ทุกๆ ก้าวที่เต็มไปด้วยความฝัน อาจารย์ปู-กุลิสรา พานิช

ชีวิตคือการก้าวเดิน ไม่ว่าทางเดินข้างหน้าจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามมากมายแค่ไหน เราก็พร้อมก้าวไป เป็นกำลังใจให้กันและกันเสมอ เช่นเดียวกับอาจารย์ปู กุลิสรา พานิช นายกสมาคมช่างผมไทยคนใหม่ ปี 2563 ที่ก้าวเข้ามาพร้อมสถานการณ์โควิด-19 เราไปฟังวิสัยทัศน์ ฟังเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความฝัน กว่าจะถึงวันนี้และการก้าวต่อไปในวันหน้า ไปเสริมสร้างกำลังใจพร้อมๆ กันกับทุกมุมมองดีๆ ของอาจารย์ปูกันดีกว่านะ !

Profile :

ชื่อ                    กุลิสรา  พานิช

ชื่อเล่น               ปู

อายุ                  48 ปี

วันเกิด               5ตุลาคม 2515

พี่น้อง                พี่ชาย 2 คนน้องสาว 1 คน

การศึกษา          มัธยมศึกษาปีที่ 6

            คติประจำใจ  :    อัตตาหิอัตโนนาโถ  ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

            “ชีวิตของครูคือเริ่มทำงานนานมาก จำได้ตั้งแต่ตอนอายุ 16 ปี ได้ทำหน้าที่ดูแลเด็กให้กับร้านเสริมสวย มีโอกาสได้ช่วยเขาทำผม ทำเล็บต่างๆ ทำอยู่ 2-3 ปี ได้ซึมซับในเรื่องของร้านเสริมสวย อายุประมาณ 21 ก็มีครอบครัว แต่งงาน หลังจากนั้นก็ไปเรียนที่ศูนย์ฝึกที่หนองจอก กับ อ.สันทัด ที่เป็นอุปนายกของเรา เรียนอยู่ 6 เดือน เรียนทั้งผมหญิง ผมชาย แล้วก็ไปฝึกงานตามร้าน ฝึกอยู่ประมาณครึ่งปี เราก็ออกมาเปิดร้านของเราเอง มีร้านของตัวเองตั้งแต่อายุ 24-25 มีลูกค้าของตัวเองมาตลอด เปิดมาได้สิบปีก็ไปทำงานต่างประเทศ ที่ตุรกี 1 ปี เป็นโรงแรมห้าดาว เราก็เป็นช่างอยู่ที่นั่น 1 ปี ถัดมาอีก 3-4 ปีก็ได้ไปอยู่สิงคโปร์ 3 เดือน จากนั้นไปเกาหลี เป็นช่างอยู่ 7 เดือน กลับมาก็เรียนเพิ่มเติม ที่โรงเรียน ใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการสอบการเป็นครู กว่าจะบรรจุเป็นครู สองปีได้ สอนอยู่ในโรงเรียนอีก 5 ปี ช่วงนั้นทางภูเก็ตซื้อเฟรนไชส์โรงเรียนไป ก็ไปสอนที่ภูเก็ตประมาณ 1 ปี ก็กลับมาเปิดร้านของตัวเองอีกครั้ง แถวลาดพร้าว 101 เปิดร้านเพื่อรองรับนักเรียนที่เราเคยสอน  ตอนนั้นเปิดแค่สระ ไดร์ 59 บาท เป็นการฝึกเด็กไปในตัว เปิดแค่ 8 เดือนก็ปิดไป คราวนี้เริ่มสอนนอกสถานที่ ตามต่างจังหวัดมาตลอด”

            ช่วงเวลานั้น ได้ประสบการณ์อะไรจากการทำงานบ้างคะ

            “ก็ได้เยอะอยู่นะ แต่ช่วงนั้นจะลำบากนิดหนึ่ง ไม่มีค่าเช่า ค่าน้ำไฟต่างๆ เราก็ปิดร้านไปเลย แต่ก็ยังมีหนี้สิน มานับหนึ่งใหม่ วิกฤตมากนะตอนนั้น ตอนนี้วิกฤตโควิด สั่งปิดเดือนเดียว แต่ช่วงนั้นเราลำบากมาก หลายๆ อย่าง ยังต้องเลี้ยงดูลูกอีกสามคน เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็ต้องดิ้นรน เป็นทั้งแม่ค้าเสื้อผ้ามือสอง สุดท้ายก็ประกาศลงเฟส มีไอเดียช่วงที่ทางภูเก็ตซื้อเฟรนไชส์เราไป เขาใช้สื่อโซเชียลโฆษณา มีเพจ แนะนำเรา ผลงานของเรา ทำให้เรามีชื่อเสียง คนต่างจังหวัดทางใต้ เมเลย์ ก็จะข้ามมาทำกับเรา เริ่มรู้สึกว่าโซเชียลมันสามารถสร้างงานได้ ก็เก็บเสื้อผ้าขาย โพสต์ขายของในเฟส เราก็อยู่รอดได้ ถึงเราจะติดลบ นักเรียนที่โรงเรียนก็เสนอว่าจะลงทุน ค่าเช่า มัดจำทุกอย่าง เราก็เป็นหนี้เขาหลายหมื่น แต่ทางโรงเรียนเห็นว่าเจตนาดีกับทางโรงเรียนก็จะมีอุปกรณ์มาลงที่ร้าน หลายๆ ส่วน เพื่อนที่ทำแบรนด์ต่างๆ ก็เอาผลิตภัณฑ์มาลงให้เรา เราทำสีหัวละ 399-499 เอาแบรนด์ดังๆ มาทำ ก็ไม่ได้กำไร แต่เราก็ฝึกเด็กให้เรียนรู้กันไป ได้ตรงสระไดร์ก็แบ่งคอมมิชชั่นให้เด็ก เราต้องตัดสินใจปิดร้าน แบกหนี้เอาไว้ แต่วิกฤตตอนนี้ ทุกคนติดศูนย์ แต่เราไม่ได้ถอยหลัง ตอนนั้นอาจารย์ติดศูนย์ แล้วยังถอยหลังไปอีก สมัยก่อน เราเลี้ยงลูกคนเดียวคนเล็กสามขวบครึ่ง ตอนนี้เขาโตกันหมดแล้ว วิชาติดตัวเราไม่ต้องกลัว ไปทำเล็บตามบ้าน เราก็ได้ มีเงินซื้อข้าวสาร ให้ลูก
ไปโรงเรียน เป็นแบบนี้ เก็บทุกวัน สิ้นเดือนมาปุ๊บ เงินเดือนก็จ่ายค่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ตอนนี้ เราต้องคิดว่าเรามีความรู้ เราเป็นครู เอาความรู้เดินไปหาเขา ลงโพสต์ เอาโซเชียลมาช่วย ก็มีเด็กๆ มาหาเรา มาเรียนกับเรา ไปสอนจังหวัดแรก ระยอง ค่าเรียนคำนวณต่อวันเท่าไหร่

วันละ 1,000 เราเอาคชจ.พันเดียว เราไปสามวัน ค่ารถด้วย 3,500 นักเรียน 4 คน เรามีเงินกลับบ้านแล้ว  จากปากต่อปาก เราก็เริ่มออกสอนหลายที่หน่อย ในหนึ่งสัปดาห์ไม่มีวันพัก สามวันสอน อีกสามวันเดินทาง ต้องสู้นะ เดินสายสอนแบบนี้ ไม่เกิน 3 เดือน เราใช้หนี้หมดเกลี้ยง
เลย จากนั้นเราเริ่มเก็บออม เพราะความจนความลำบากมันน่ากลัว ลูกสามคนเรียน ก็หนักมาก แต่ก็เก็บแค่หลักหมื่น สำหรับเราหมื่นสองหมื่นถือว่าเยอะสุดสำหรับเราแล้ว แต่ตอนหลังก็มีบางคนถามเหมือนว่าเราเป็นครูบาอาจารย์ ทำไมไม่เปิดสอน เราต้องวิ่งไปสอนตามต่างสถานที่ เหมือนเป็นหนูงานวัด เราก็เลยคิดว่า เราจะหยุดไม่ได้ เราต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเปิดสอนที่บ้านมีนักเรียนมาเรียนกับเรามั้ย อยู่ในหมู่บ้านลึกนะ แต่ก็มีนักเรียนมาเรียนกับเรา ครูสารพัดช่างก็มา ช่วงเปิดร้านปิดร้านไป ความโชคดีก็คือ ท่านนายกปฏิวัติ บารมีอนันต์ มาเชิญเราไปเป็นคณะกรรมการ เราก็เข้าไป คิดว่าต้องได้อะไรกับช่างผมบ้าง ความลำบาก ความยากจน เป็นช่างที่ลำบาก เรามีโอกาสได้เข้าไป เราคิดตลอดว่าสมาคมน่าจะมีอะไรสักอย่างที่ช่วยช่างผมได้ แต่หลายคนอาจมองว่าเราเอาคำว่าสมาคมมาหากินกันมั้ย เราก็เปิดสอนที่บ้าน แรกๆ มีคนสองคน จนเรื่อยๆ ระบบโซเชียลก็ทำให้มีนักเรียนมาเรียนเยอะขึ้น ซึ่งในทางสมาคมมีแต่การเสียสละ ช่วยทุกอย่างโดยไม่ได้รับสิ่งตอบแทนนะ เข้าร่วมประชุมก็ไม่มีอะไร เราอยากให้สมาคมเราโต เราก็ต้องทำ เรามีสมาคมเพื่ออะไร อยู่มา 4 ปี เรารู้ว่าสมาคมไม่ได้เก็บค่าสมาชิก ไม่ได้หวังผลอะไร แต่เราต้องให้สมาคมใสสะอาดบริสุทธิ์ และเติบโตขึ้นให้ได้ คือเราคิดตรงนี้”

จากก้าวแรกๆ ถึงวันนี้ ลูกๆ มีส่วนช่วยงานอาจารย์ด้วย

“ใช่ๆ เพราะทุกคนก็เรียนจบ เป็นปัญญาชนกันหมดแล้ว เขาก็เก่งโซเชียลมากกว่าเรา ก็จะเข้ามาช่วยในด้านทำการตลาดต่างๆ เราก็ขยับออกมาเปิดร้านอยู่ริมถนน เช่าเป็นอาคารพาณิชย์ ครอบครัวก็ย้ายอีกครั้ง แต่ยังไม่ทันได้จัดตั้งเรียบร้อย  เราก็มีลูกค้า มีนักเรียนมาเรียน ตอนนี้ร้านอยู่ปากซอยลาดพร้าว 101 ซึ่งเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อยู่มา 1 ปีแล้ว สอนมาก็หกปี ที่เป็นอินดี้แฮร์ดีไซน์ จัดตั้งเป็นบริษัทเมื่อเดือนมีนาคม ลูกสาวจดให้  ทุกคนจะมาช่วยตรงนี้ เราก็สามารถเปิดร้านเล็กๆ ได้ อาจจะยังไม่ได้เข้าที่เข้าทางมาก เพราะเน้นไปทางการเรียนการสอนมากกว่า สอนมาก็ 10 ปีได้ อายุเรามากขึ้นเป็นช่างตั้งแต่อายุ 16 ประสบการณ์ช่างสามสิบกว่าปี คิดว่าคนที่เป็นเหมือนเราน่าจะหมดไปแล้ว แต่ทุกวันนี้ยิ่งมีมากขึ้น โรงเรียนแต่ละที่หวังผลประโยชน์ กำไรต่างๆ แต่เราย้อนมองไปว่าถ้าได้ทำตรงนี้ เราจะตอบแทนอาชีพเราตรงนี้ เปิดคอร์สแค่ 5 วัน 7,500 บาท แต่สามารถเรียนซ้ำได้ตลอดชีพ ตอนนี้ก็ถือว่านักเรียนฐานมั่นคง ด้วยชื่อเสียง การทำงานมั่นคงขึ้นด้วยค่ะ”

กับตำแหน่งหน้าที่การนายกสมาคมช่างผมไทยคนใหม่ในสภาวการณ์แบบนี้ อาจารย์มีการเตรียมการณ์อย่างไรไว้บ้างคะ

“ค่ะ สำหรับตำแหน่งนี้ ก็ได้รับการแต่งตั้งมาตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา  ซึ่งมุมมองของเราเมื่อก้าวเข้ามา ก็เริ่มมองว่าเราจะช่วยเหลือช่างผมอย่างเราได้บ้าง  คือเหตุผลที่เราได้เข้าไปในสมาคม พอตัวเองได้เป็นนายกตรงนี้ สิ่งแรกที่เราเห็นคือ เมื่อเราไม่มีรายได้ เราจะทำอะไรให้กับช่างผมบ้าง ก็เริ่มจากเปิดกลุ่ม เป็นช่วงโควิดเข้ามาด้วย เราก็อยากสร้างกลุ่ม รับสมาชิกเข้ามา อาจจะเสียเงิน 1,000 ในการเรียนรู้ทุกภาควิชาของอาชีพเรา เงินสมาชิกคือเงินรายได้ของสมาคมที่เราจะมี เราต้องเป็นผู้ให้ก่อน เราถึงจะเป็นผู้รับ ในค่าสมาชิก 1,000 สิ่งแรกคือได้เรียนรู้ทุกภาควิชา เรามีอุปนายกที่ทำงานในหน่วยงานราชการ  เราสามารถโคกันให้เปิดศูนย์ในอาชีพของเราได้ เราสามารถเปิดคอร์สสำหรับเรียนฟรีได้

อาจจ้างครูวิทยากร 3,000 มาสอน เรียนจบก็มีตัวตน เข้าสอบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อประกอบวิชาชีพ เป็นแผนงานที่เราจะทำ  เมื่อเราทำเป็นศูนย์อบรมได้ หน่วยงานราชการก็จะมีเข้ามาช่วยเหลือสมาคม เราก็สามารถช่วยช่างผมประสบภัยได้หมด เมื่อมีสมาชิกเข้ามาเยอะๆ อาจทำประกันหมู่ไว้ บัตรนั้นสามารถยื่นกับทางรพ.ได้ ทุกคนต้องมีบัตร  และบัตรนั้นจะเหมือนบัตรเครดิต ที่สามารถกดเงินได้เวลาลำบาก อาจมีให้กู้ฉุกเฉินต่างๆ เวลาที่ช่างผมเดือดร้อน ตอนนี้ก็ทำหนังสือ เพื่อยื่นให้กับทนายรณณรงค์  แก้วเพ็ชร์ ให้รัดกุมที่สุด ไม่ให้ผิดกฎหมาย หรือเข้าไปอยู่ในกระเป๋าคนใดคนหนึ่ง หลังจากนั้น เราอาจจะตั้งเป็นมูลนิธิขึ้นมาได้สำเร็จ กิจกรรมประจำปี อาจมีกิจกรรมทางวิชาการ จัดงานแฟชั่น แข่งขันทำผมต่างๆ ในเรื่องของจิตอาสา ก็ไปตัดผมให้บ้านพักคนชรา บ้านเด็กกำพร้าบ้าง  ในหนึ่งปี เราอาจตัดงบบริจาค ทำบุญบ้าง แต่ต้องค่อยๆ คิดในลำดับต่อไป เราต้องให้บ้าง เราถึงจะได้ ถ้าสมาคมของเราโตขึ้นแล้วทำกิจกรรม วันนั้นสปอนเซอร์อาจวิ่งเข้ามาหาเราเอง “

วิสัยทัศน์ต่างๆ เกี่ยวกับวิกฤตโควิดช่วงนี้ล่ะคะ

“สิ่งแรกเลย เมื่อเรารู้ว่าเราถูกปิด สิ่งเดียวที่ผู้นำทำได้ เราต้องทำก่อน คุยกับเจ้าของบ้าน ขอลดหย่อนค่าเช่า พรก.ไม่มีกฎหมายบังคับให้เจ้าของลดให้เรา แต่เราต้องเริ่มจากคุยก่อน ถ้าไม่ลดก็ประนีประนอมไป อาจจะให้หักเงินล่วงหน้าของเราไป เดือนสองเดือนอาจจะหมด พอเราเริ่มทำงานเราก็ค่อยหาเงินกลับไปวางประกันเหมือนเดิม ถ้าเจ้าของบ้านอะไรก็ไม่ได้ ก็ต้องแจ้งความก่อนเลย เพราะพรก.ฉุกเฉิน เขาบังคับประชาชนทั้งหมดให้หยุดงาน ก็มีกฎหมายครอบคลุมผู้เช่าด้วย เป็นคำแนะนำจากทนาย เราสามารถแจ้งความได้ ถ้าหากเราไม่ได้รับการลดหย่อนต่างๆ เลย เรารวบรวมรายชื่อ ทำเป็นข้อมูล ลิ้งรับรายชื่อทั้งหมดเข้ามา รวบรวมได้ประมาณ 5126 คน เราดูว่ารัฐบาลจะเยียวยาเราอย่างไร หลายสมาคม สมาพันธ์ก็ไปเรียกร้องทางสำนักนายก  แต่ถ้าเขาเครียดเขาโมโหอะไรอยู่ มันก็คงยาก ก็เลยไม่ไปวันนั้น ให้เขามองว่าไม่ให้ความร่วมมือ  เราก็รอฟัง จนที่สุดก็นำรายชื่อของช่างผมทั้งหมดไปติดต่อทนายรณณรงค์ ช่วยพาเราไปยื่นหนังสือเรียกร้องต่างๆ เพื่อช่างผมที่เดือดร้อนของเรา เราต้องทำเป็นหนังสืออย่างถูกต้อง ครอบคลุมทุกอย่างไม่ให้ผิดกฎหมายต่างๆ ด้วย ถ้าเราทำสำเร็จ ช่างผมก็จะมีตัวตน มีสมาคมยอมรับ ต้องศึกษาต่อไปว่าสมาคมทำอะไรได้อีกในอนาคตแบบนี้ ต่อไปอาจมีเบื้อประชุม หรือเวลาเข้ามาช่วยงาน อาจมีคชจ.ต่างๆ ถ้าอัดคลิปมาลงกลุ่มก็จะมีรายได้ตรงนี้ ถ้ามีเงินเยอะขึ้นมาเป็นรายเดือน กรรมการทุกคน อาจมีเบี้ยเลี้ยง สมาชิกสมัครครั้งแรก 1,000  ต่อไปอาจส่งรายเดือนๆ ละ 200 เป็นเงินกองทุนเพื่อให้พวกเราเองในยามฉุกเฉิน เดือดร้อนต่างๆ”

มุมมองอนาคตของอาจารย์ในช่วงเวลานี้

“ตอนนี้ที่ทำได้ ก็คือขอให้ร้านของเราเรียบร้อยก่อน เมื่อก่อนเรามีสองสาขา สาขาที่ 1 ไม่คิดค่าเช่าเราเลย สาขาที่ 2 ไม่ลดให้ ตอนนี้เราอยู่เหมือนหักเงินประกันไป ทำการย้ายให้เหลือสาขาเดียว เราต้องทำให้บ้านเราเรียบร้อยก่อน จากนั้นจะเริ่มทำความสะอาด เตรียมพร้อม ต้อนรับฟ้าใหม่ หลังวิกฤตโควิด เราจะสามารถอัดคลิป ไลฟ์สด หันกลับมาดูก่อนว่าอุปกรณ์ครบมั้ย ล้าง ทำความสะอาดกันหรือยัง แอลกอฮอล์วางหน้าร้าน พร้อมมั้ย กระทรวงสาธารณสุข แจ้งมาให้ทำอย่างไร มาตรการนั้นสำคัญเราต้องทำให้เป็นร้านตัวอย่างเลย  เพื่อให้ทุกๆ ร้านของช่างผมพวกเราทำตามกัน อย่างถูกต้อง อาจารย์เป็นนายกยุคโควิดจริงๆ คือยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อนายก ก็คือยังไม่ได้เปลี่ยนเลย แต่งตั้งเสร็จ ก็คือยังไม่ได้แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ก็เริ่มทำงาน คือลุยทุกอย่าง หลังโควิดคงต้องทำให้เรียบร้อยทุกอย่างค่ะ”

สิ่งที่อาจารย์อยากฝากถึงช่างผมและทุกๆ คนในช่วงเวลานี้

“ค่ะ ครูก็อยากบอกทุกคนว่าอาชีพช่างผมเป็นอาชีพทำมือ ยิ่งทำยิ่งเก่ง ยิ่งศึกษายิ่งรู้ ยิ่งพัฒนาฝีมือ เราไม่อดตายแน่นอน ถ้าไม่เกิดวิกฤตโควิดขึ้นมา เราไม่อดตายกันแน่ และแม้วิกฤตตรงนี้จะทำให้เราอดกันบ้าง แต่ให้มองไปสมัยโบราณ ไม่มีโลกโซเชียล ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเงิน ทำไมเขาอยู่กันได้ เราต้องใช้คำว่าพอเพียง ประหยัด หาวิธีเอาตัวรอด สัญชาตญาณมนุษย์ ไม่ปล่อยให้ตัวเองตายง่ายๆ ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า คนเร่ร่อน ไม่มีบ้าน คนขายดอกไม้ คนจรจัด ไม่เห็นตายสักคน บ้านไม่มีอยู่ ไม่รู้จะกินอะไร ไม่คิดอะไร แต่เขาก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้น ช่างผมเราไม่มีวันตาย เพียงแค่ว่าเราต้องรู้จักประหยัดในช่วงนี้ก่อน ที่สำคัญอยากเก่งคุยกับคนเก่ง อยากรวยคุยกับคนรวย อยากฉลาดคุยกับคนฉลาด อยากทำธุรกิจเก่งต้องคุยกับนักธุรกิจ อยากบริหารร้านเก่งๆ ก็ต้องไปดูร้านคนที่เขาบริหารเก่ง ถามเขา เขาทำการตลาดยังไง เราต้องพัฒนา เชื่อได้เลย ช่างผมไม่ลำบาก ถ้าเรารู้จักเอาตัวรอด เศรษฐกิจพอเพียงอย่างพ่อหลวงสอนไว้ ยังใช้ได้เสมอ เราต้องสู้ๆ และให้กำลังใจกัน ที่สำคัญ สมองของคนเรา มันเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ อะไรไม่ดี เราต้องลบทิ้ง อย่าเก็บไว้คอมจะเออเร่อได้ เราต้องอัพเดทตลอดเวลา รีบูตเครื่องใหม่เรื่อยๆ ลบทิ้งสิ่งที่ไม่ดี ถ้าเราเก็บอะไรดีๆ เราก็จะเจอแต่สิ่งดีๆ สามข้อที่ปฏิบัติตลอด คือคิดดีทุกวัน คิดสร้างสรรค์ทุกวัน คิดวันละเรื่อง แล้วลงมือทำเป็นข้อที่ 2 เราจะทำอันไหนได้ก่อน แล้วทำด้วยความสนุก ทำเหมือนเด็กๆ ทุกวัน หาของเล่นทุกวัน  ข้อที่ 3 ทำเพื่อส่วนรวม แล้วทำให้สนุกเข้าไว้ คิดสร้างสรรค์ตลอดเวลา เดี๋ยวมันจะตามมาเอง ถ้าเราคิดแต่เรื่องลบๆ มันก็เจอแต่สิ่งไม่ดี เราต้องคิดแต่สิ่งดีๆ เสมอ เราอยากได้อะไรต้องใช้สมองคิดก่อน เราอยากได้รถ ทำยังไงจะได้รถ ก็ต้องมีตังค์ ต้องเก็บเงิน เราคิดทุกอย่างไว้หมด ต้องคิดก่อน ถ้าคิดไม่ดีมันก็ออกมาไม่ดี คิดดี ก็ออกมาดีแน่นอนค่ะ”

แนวคิดดีๆ ที่เต็มไปด้วยความฝัน และเพียงฝันให้ไกลไปให้ถึง เราทุกคนย่อมถึงฝั่งฝันและฝ่าวิกฤตโควิด-19 ในช่วงเวลานี้กันไปได้ในที่สุด !